Wednesday, June 23, 2010

๑๐๐ ปีขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์

วีรบุรุษไร้อนุสาวรีย์
"เตียง ศิริขันธ์" ผู้อุทิศชีวิตให้ชาติและประชาชน
ร่วมกอบกู้เอกราช หนุนเพื่อนบ้านต่อต้านจักรวรรดิ
แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้และลืมวีรกรรมกล้าหาญของท่าน
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู
กรุงเทพธุรกิจ

     ขบวนการเสรีไทย คือ อะไร? เตียง ศิริขันธ์ เป็นใคร สำคัญอย่างไร? เสรีไทย คือ ขบวนการต่อต้านสงครามรุกราน และกอบกู้เอกราชในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒


ไฟสงคราม ลามลุกโชน
     ก่อนรุ่งสาง ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ อ่าวเพิร์ล เกาะฮาวาย ที่ตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคแปซิฟิก ถูกกองบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดแบบสายฟ้าแลบ ย่อยยับเป็นอัมพาต จากนั้นอเมริกาจึงกระโจนสู่สงครามอย่างเต็มตัว

     ย่างเข้าวันใหม่ ๘ ธันวาคม จอมพลฮิซะอิจิ เทราอูจิ แม่ทัพใหญ่ภาคใต้ กองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่นที่เมืองไซ่ง่อน สั่งกองทัพทุกหน่วยยกพลขึ้นบกประเทศไทยตามจุดต่าง ๆ เฉพาะสมุทรปราการ บริเวณปากแม่น้ำ ได้ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรัดกุม ทั้งสองฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่

     แต่ทางภาคใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เหล่าทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และประชาชนได้จับอาวุธต่อต้านถึงขั้นตะลุมบอนประชิดตัว ล้มตาย บาดเจ็บจำนวนมาก

     หลวงพิบูลสงคราม หรือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประเมินสถานการณ์ ฝ่ายเสนาธิการทหารยืนยันไม่อาจต้านทานญี่ปุ่นได้ และยากจะได้รับความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตร ควรจะยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปตีอังกฤษที่พม่า นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความคิดนี้ แต่อีกฝ่ายเห็นว่าการยอมจำนนง่าย ๆ ไม่ต่างกับยอมตกเป็นเมืองขึ้น ที่ประชุมยังไม่ลงมติใด ๆ วันถัดมา นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจลงนามยอมญี่ปุ่นไปแล้ว วันรุ่งขึ้นรัฐสภาประชุมเพื่อลงมติ มีการอภิปรายอย่างเคร่งเครียดประมาณหนึ่งชั่วโมง เสียงข้างมากลงมติรับรองการตัดสินใจของรัฐบาล

     เมื่อให้ประกาศออกอากาศอย่างเป็นทางการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนน้ำตาไหล ประชาชนต่างสลด หดหู่ เจ็บใจ ผิดหวังกับรัฐบาลที่เคยโฆษณาปลุกระดมให้เสียสละต่อต้านผู้รุกรานให้ถึงที่สุด เท่าที่จะทำได้

ก่อรูปขบวนการเสรีไทย
     ค่ำวันนั้น ที่บ้านพูนศุข ถนนสีลม มีมิตรสหายหลายคนที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาลมาปรึกษาหารือกัน เช่น หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายกำจัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายกำจัด พลางกูร เพื่อปรึกษากับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์

     ความเห็นสอดคล้องกัน ในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีชัยชนะอย่างแน่นอน รัฐบาลที่ถลำไปกับญี่ปุ่นจะไม่อาจรักษาเอกราช อธิปไตยไว้ได้ ทุกคนเห็นพ้องในเจตนารมณ์เสียสละเพื่อบ้านเมือง และให้จัดตั้งองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

     วันที่ ๑๖ ธันวาคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ นายปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่ถึงแก่อสัญกรรม

     รัฐบาลจอมพล ป. ลงนามสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่นวันที่ ๒๑ ธันวาคม และอีกสี่วันถัดมา ตอนเที่ยงวันนั้นได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

     ถัดจากนั้นประมาณ ๓ ชั่วโมงเศษ ที่บ้านท่าช้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเนียบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมาชิกกลุ่มใต้ดินมาประเมินสถานการณ์และรับงานเคลื่อนไหวลับ

     เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ ในห้องชั้นสอง อาคารสถานทูตไทย เลขที่ ๑๐๒๔ วิสคอนซิน อเวนิว กรุงวอชิงตัน คนไทยนักศึกษามาชุมนุมร่วมสามสิบคน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย และเจ้าหน้าที่สถานทูตอยู่พร้อมหน้า ผลสรุปการหารือถกเถียงจากข้อเสนออันหนักแน่นของกลุ่มนักศึกษา ให้ตั้งขบวนการ FREE THAI MOVEMENT หรือ ขบวนการเสรีไทย และอาสาสมัครเข้าฝึกวิชาทหารหลักสูตรเร่งรัด สังกัดหน่วยยุทธศาสตร์บริการ (Office of Strategic Services : O.S.S.) หรือโอ เอส เอส

     ต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน คนไทยในอังกฤษก็ได้อาสาสมัครตรวจคัดเลือกเข้ากองทัพอังกฤษ ฝึกวิชาทหาร เพื่อรอส่งตัวไปปฏิบัติการลอบเข้าเมืองไทย สอดแนม และก่อวินาศกรรมกองทัพญี่ปุ่น

จากครู สู่ผู้แทนสกลนคร
     ชายร่างสูงปราดเปรียว ผิวกร้านแดด สวมแว่นสายตา ในนามจัดตั้งว่า “พลูโต” อยู่ท่ามกลางพลเรือนที่กำลงฝึกหัดพื้นฐานการทหารคือการจัดแถว และฝึกจับอาวุธจำลองเป็นท่อนไม้ถากเหลาขึ้นรูปคล้ายปืน ระหว่างรอการช่วยเหลือ


     เขาไม่ใช่ทหาร แต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนครั้งแรกของประเทศ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ด้วยวัยย่าง ๒๘ ปีหลังจากตัดสินใจทิ้งอาชีพครูที่เรียนมาโดยตรง คำเรียกติดปากของคนทั่วไปคือ "ครูเตียง"

     ครูเตียงเลือดเนื้อเชื้อไขคนลุ่มแม่น้ำโขง เกิดเมื่อ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๒ แถวคุ้มวัดศรีสะเกษ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร เป็นลูกคนที่หกในจำนวนเก้าคน ของแม่อ้ม พ่อบุดดี ศิริขันธ์ (ขุนนิเทศพาณิช) ชาวบ้านเรียกนายฮ้อยบุดดี เพราะเคยมีอาชีพต้อนวัว ควาย มีเชื้อสายลาวญ้อมาจากฝั่งเมืองมหาชัยก่องแก้ว ห่างแม่น้ำโขงเมืองท่าแขกลึกเข้าไปประมาณ ๕๐ กิโลเมตร

     ครูเตียงเรียนชั้นประถม ๑ จนจบชั้นมัธยม ๓ จากโรงเรียนสกลราชวิทยาลัย เรียนต่อโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ชั้นมัธยม ๔ ถึงมัธยม ๖ จากนั้นพ่อส่งไปศึกษาโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศในพระนคร จบประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) เมื่อพ.ศ.๒๔๗๐ และศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะร่วมชั้นกับ ครูเปลื้อง ณ นคร จบวุฒิประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) พ.ศ.๒๔๗๓ จากนั้นบรรจุเป็นครูโรงเรียนหอวัง ประมาณ ๒ ปีย้ายมาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล

     ครูเตียงได้เห็น สัมผัสพี่น้องชาวอีสาน ผู้ทุกข์ยาก ถูกข่มเหงกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำถูกนายเงินเจ้าที่ดินเอาเปรียบสารพัด จุดหักเหสำคัญต้องตัดสินใจมาเป็นผู้แทนราษฎร เพราะคับแค้นใจต่อความไม่เป็นธรรม ตกเป็นจำเลยคดีคอมมิวนิสต์ เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๗๘ สาเหตุช่วงนั้นมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีคนชักธงรูปค้อนเคียวขึ้นยอดเสาธง ครูเตียงกับเพื่อนครูอีกสามคนถูกหมายหัวถูกฟ้อง คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และ ครูญวง เอี่ยมศิลา ถูกคุมขังอยู่ประมาณสองเดือนต่อสู้คดี กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี

     แต่มีเกร็ดด้านหนึ่งบอกว่า นายร้อยตำรวจโทคนหนึ่งมาติดพันนางงามเมืองอุดรธานี แต่เธอไม่เล่นด้วย กลับมีใจให้ครูเตียงมากกว่า ด้วยความแค้นเคืองจึงหาทางใส่ความด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์


     ครูเตียงรู้สึกตื้นตันใจ ลูกศิษย์ลูกหาส่วนใหญ่เป็นครูประชาบาล และชาวบ้าน รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการ มีเพื่อนส.ส.ร่วมอุดมการณ์กระจายกันหาแนวร่วมในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สมรภูมิขับไล่ญี่ปุ่นผู้รุกราน

     จากฐานที่มั่นแห่งแรกเขตหมู่บ้านโนนหอม ห่างตัวเมืองสกลนครประมาณ ๑๕ กิโลเมตรไปทางจังหวัดนครพนม ในปี ๒๔๘๕ ค่ายเสรีไทยได้ตั้งกระจายไปในเขตป่าของเทือกเขาภูพาน เช่น ค่ายด่านนกยูง บ้านเต่างอย ค่ายดงพระเจ้า ค่ายบ้านหนองหลวง ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน ค่ายบ้านตาดภูวงศ์ อำเภอวาริชภูมิ ค่ายบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย ค่ายบ้านภูสระคาม อำเภอวานรนิวาส ค่ายบ้านหนองผือ อำเภอพรรณนานิคม

     ที่ค่ายดงพระเจ้า ในวาระสำคัญของการจัดตั้งกองกำลังพลเรือน "พลูโต" ได้กล่าวต้อนรับมิตรสหายเข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น

     "ยินดีต้อนรับพวกเธอทุกคนเข้าสู่ขบวนการ เราทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าขณะนี้โลกของเรากำลังทำสงครามกันเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอักษะกับฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายอักษะนั้นมีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ฝ่ายสัมพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย และจีน ขณะนี้ฝ่ายอักษะกำลังจะแพ้สงคราม อิตาลียอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรไปเรียบร้อยแล้ว...ไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเราก็ไม่พ้นถูกยึดครอง ท่านรูธ หัวหน้าใหญ่ของขบวนการของเราท่านเล็งเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อร่วมมือกับอังกฤษและอเมริกา เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพสู้กับฝ่ายพันธมิตร ฉันได้รับบัญชาจากท่านรูธ หัวหน้าของขบวนการเสรีไทยที่รักชาติ ให้มารวบรวมพลพรรคเสรีไทยที่รักชาติ ทำการฝึกอาวุธเตรียมไว้สำหรับการขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นประเทศไทย...บัดนี้พวกเธอทั้งหลายคงรู้แล้วสิว่า เรามาที่นี่เพื่ออะไร ขบวนการของเราต้องการผู้รักชาติมาร่วมกันทำงาน เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นภัย…"

     ที่พรรณนานิคมนี่เอง พลูโตนำพลพรรคเสรีไทยภูพานไปกราบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอริยะสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง นำคณะศิษย์หลายสิบรูปมาจำพรรษาที่ป่าบ้านหนองผือ เป็นเสมือนศูนย์รวมสร้างขวัญกำลังใจแก่ญาติโยมเป็นอย่างมาก

     ด้วยแกนนำคนสำคัญของภาคอีสาน ทั้งครูเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ เป็นต้น รวมไปถึงแกนนำคนสำคัญอย่าง นายสวัสดิ์ และนายสวาสดิ์ ตราชู นายสนิท ประสิทธิ์พันธุ์ นายถวิล สุนทรศาลทูล นายครอง จันดาวงศ์ และเมื่อทหารฝ่ายสัมพันธมิตร มาเชื่อมต่อติด เช่น พันตรีบาทหลวงฮอลิเดย์ ชาวอเมริกา พันตรีเดวิด สไมเลย์ ชาวอังกฤษ


     ทั่วเขตงานป่าเขาในภาคอีสาน ถูกจัดตั้งกองกำลังจรยุทธ์ และตั้งค่ายเสรีไทยเพิ่มอีกในหลายจังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี มีกองบัญชาการสำคัญอยู่ ๓ แห่ง คือสกลนคร เลย และขอนแก่น โดยมีนายทหารฝรั่งมาประจำการด้วย อีกทั้งยังได้สร้างสนามบินลับในเขตบ้านตาดภูวงศ์ อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร และบ้านนาคู กาฬสินธุ์ เพื่อรับอาวุธยุทธปัจจัยทั้งปืน และเวชภัณฑ์

     จนกระทั่ง เสรีไทยสายอเมริกา เสรีไทยสายอังกฤษ รวมถึงเสรีไทยสายจีนด้วย รวมตัวเป็นขบวนการในชื่อเดียวกันได้ตั้งแต่ปลายปี ๒๔๘๗ และได้ตั้งกองบัญชาการเสรีไทยขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ระหว่างนั้นฝ่ายอักษะเริ่มพ่ายแพ้ในยุโรป เยอรมนีพ่ายแพ้ต่อสหภาพโซเวียต พฤษภาคม ๒๔๘๗ ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกฝั่งนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ปลดปล่อยกรุงปารีสในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗

     ถึงขั้นนี้ นักรบเสรีไทยถูกฝึกและพร้อมจะรบทันทีเมื่อประกาศวันดีเดย์ หรือวันยกพลของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามา แต่สงครามยุติลงเสียก่อนเพราะญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ เพราะถูกทิ้งระเบิดปรมาณูเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ ๖ และ ๙ สิงหาคม

     รูธในฐานะผู้สำเร็จราชทานแทนพระองค์ ได้ประกาศสันติภาพให้ถือว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ผิดเจตจำนงของประชาชน และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย

     พลพรรคเสรีไทยร่วมกับทหารสัมพันธมิตรดำเนินการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้ว จากนั้นก็เข้ามาร่วมพิธีสวนสนามในกรุงเทพมหานคร ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพล.ร.อ.ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ ประกาศสถานะไม่เป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ถูกแบ่งเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้ อย่างเกาหลี และเวียดนาม

ครูเตียง กับขบวนการสันติบาตเอเซียอาคเนย์
     ครูเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี คือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งพรรคสหชีพ มีนโยบายเพื่อเกษตรกร แก้ไขความทุกข์ยาก แก้อคติหยามเหยียดกันในสังคมไทย มีแนวทางสนับสนุน พรรคแนวรัฐธรรมนูญ มีนายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

     พรรคสหชีพอภิปรายโจมตีนโยบายการบริหารประเทศของผู้นำทหารที่มักจัดสรรงบประมาณให้กองทัพมากเกินไป สร้างความขุ่นเคืองให้กลุ่มทหารตลอดมา เมื่อสงครามยุติ ส.ส.อีสานกลุ่มนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ครูเตียงนั้นเป็นรัฐมนตรี ๓ สมัย ๓ รัฐบาล คือ รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลพล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

     นอกจากนี้ ยังมีภารกิจหนุนช่วยพี่น้องเพื่อนบ้านต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ไม่ยอมปล่อยมือ ก่อนนั้น ชาวญวนรักชาติได้ก่อตั้ง สันนิบาตเพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม หรือ “เวียดมินห์” ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ช่วงนั้นให้เวียดมินห์มาฝึกอาวุธที่ดอนสววรค์ กลางหนองหาร ด้วย

     กับขบวนการลาวอิสระ ภายใต้การนำ ของเจ้าสุภานุวงศ์ ได้สนับสนุนจัดตั้งและให้มาฝึกอาวุธเช่นกัน นอกจากนี้เสรีไทยอีสานบางส่วนยังข้ามน้ำโขงไปช่วยลาวและเวียดนามอีกด้วย ดังนั้น อาวุธเสรีไทยจึงได้ถูกลำเลียงไปสนับสนุนลาว และเวียดนาม

     กันยายน ๒๔๙๐ ครูเตียง กับกลุ่มแกนนำภาคอีสานได้ก่อตั้งขบวนการสันติบาตเอเชียอาคเนย์ เพื่อต่อต้านการหวนกลับมาของฝรั่งเศส มีครูเตียง เป็นประธาน เจ้าสุภานุวงศ์ เป็นเลขาธิการ นายถวิล อุดล เป็นประชาสัมพันธ์ และนายเลอ ฮาย เป็นเหรัญญิก

บาปกรรมจาก รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
     ภารกิจที่ยังไม่จบของครูเตียงกับมิตรสหายหนุนช่วยนายปรีดี พนมยงค์ นี่เอง ทำฝ่ายอำนาจนิยมฝักใฝ่มหาอำนาจได้เล็งจะเอาคืน กระทั่งเกิดวิปโยคพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถูกลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

      กระทั่งเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นำยึดอำนาจล้มรัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไปเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ ก่อนจะจี้ลง ยกจอมพล ป. กลับมาใหม่

     นายปรีดีหนีไปตั้งหลักที่สิงคโปร์(ก่อนจะลี้ภัยไปในจีนและฝรั่งเศส) ส่วนครูเตียงหลบขึ้นภูพานฐานที่มั่นเดิม และเตรียมกำลังติดอาวุธจะลงมายึดอำนาจ แต่นายปรีดีออกวิทยุกระจายเสียงขอร้องไว้

     รัฐบาลตั้งข้อหาครูเตียง"กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน" และมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจับได้ เพราะมวลชนเป็นเกราะกำบัง หนังสือพิมพ์ยุคนั้นตั้งสมญานามให้ครูเตียงว่า "ขุนพลภูพาน"


     เผด็จการต้องใช้วิธีข่มขู่ ทำร้ายชาวบ้านสารพัด เพื่อให้ข่าวไปกดดันครูเตียง ว่าเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านเดือดร้อน ครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรสหายของครูเตียงอีก ๑๕ คนถูกจับ ในที่สุดขุนพลภูพานจึงยอมมอบตัวในเดือนมีนาคม ๒๔๙๑ ทั้งหมดถูกดำเนินคดี แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

      แต่การบ่อนทำลายยังดำเนินต่อไป แม้ฝ่ายสนับสนุนนายปรีดีพยายามทำรัฐประหาร ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ แต่พ่ายแพ้ถูกเรียกเป็น”กบฏวังหลวง” กระทั่งในวันที่ ๔ มีนาคม ปีเดียวกัน อดีตสี่รัฐมนตรีคนอีสาน คือ ทองเปลว ชลภูมิ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ถูกอัศวินแหวนเพชร ของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สังหารโหด บนถนนพหลโยธิน ทุ่งบางเขน

     ครั้งนี้ ครูเตียงรอดมาได้ บ้างว่ามีการเจรจาให้ครูเตียงวางอุดมการณ์ต่อสู้ เพื่อจะไม่พบจุดจบเหมือนเพื่อนๆ จากข้อมูลระบุว่า น้าสาวของ นิวาสน์ พิชิตรณการ (ภรรยาของครูเตียง) บุตรีของ ร้อยเอกนาถ และ นางเวศ พิชิตรณการ เป็นอนุภรรยาของบิดา พล.ต.อ.เผ่า จึงมีสถานะเป็นดองกัน

     กระทั่ง รัฐบาลออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นเครื่องมือกวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากข้อหากบฏในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๕ เรียกต่อมาว่า "กบฏสันติภาพ"

     เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ พล.ต.อ.เผ่า อธิบดีกรมตำรวจ ให้ตำรวจเชิญตัวครูเตียง ที่ร่วมประชุมคณะกรรมการนิติบัญญัตินัดพิเศษที่บ้านมนังคศิลา ไปพบ พร้อมกับ นายเล็ก บุนนาค นายผ่อง เขียววิจิตร นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค และหายตัวไปแต่บัดนั้น

     ต่อมา ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งรื้อฟื้นคดีนี้ ปรากฏหลักฐานว่าครูเตียง ถูกฆ่ารัดคอหลังถูกควบคุมตัวไปสองวัน แล้วนำศพไปเผาทิ้งเชิงเขาโล้น ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง กาญจนบุรี ขณะมีอายุเพียง ๔๓ ปี

ก่อการดี ระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลภูพาน
     ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ จึงเป็นวาระครบรอบชาตะกาล ๑๐๐ ปีครูเตียง ศิริขันธ์ วาระนี้ นายวิเชียร วงศ์กาฬสินธุ์ นายกสมาคมข้าราชการนอกประจำการจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่าได้ทำโครงการสร้างอนุสาวรีย์เตียง ศิริขันธ์ "ขุนพลภูพาน" ณ ลานจอดรถทางเข้าถ้ำเสรีไทย เทือกเขาภูพาน โดยกำลังระดมเงินงบประมาณ ๓ ล้านบาท

     ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดสร้างจะมี ๒ ส่วน คือ ข้าราชการประจำ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมการคือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด กับสมาคมข้าราชการนอกประจำการจังหวัดสกลนคร

     เรื่องนี้ นายทองเพชร สุวรรณแทน อุปนายกสมาคมฯ อดีตพัฒนาการจังหวัดสกลนคร ในฐานะเลขานุการขยายความว่าได้เสนอแบบการก่อสร้างอนุสาวรีย์ครูเตียง และรอการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ๒ ปีแล้ว โดยขอใช้บริเวณลานจอดรถ แต่ทางอุทยานฯ ขัดข้อง ให้ไปใช้บริเวณข้างๆ ซึ่งอยู่ต่ำลงไป ๓ เมตร ซึ่งจะต้องถมดินให้สูงขึ้นมา จึงต้องเขียนแบบแปลนใหม่และส่งหนังสือไปให้พิจารณาอนุมัติ

     "ผ่านไปประมาณสามเดือนแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งคณะกรรมการฯ มอบให้ นายเพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา อดีต ส.ว.สกลนคร เป็นผู้ประสานกับกรมอุทยานฯ และมอบให้ เฉลิมชัย อุฬารกุล อดีตส.ส.สกลนคร ประสานงานกับ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยัง ส.ส. ส.ว. ปัจจุบัน และอดีต แต่ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับเท่าที่ควร ขณะนี้มีเพียง ทวีวัฒน์ ฤทธิ์ลือชัย ส.ส.สกลนคร ที่หักเงินทุกเดือนๆ ละ 1 หมื่นบาทบริจาคเข้ากองทุนสร้างอนุสาวรีย์"

     นายทองเพชร บอกอีกว่า ขณะนี้กองทุนมีประมาณ 5 แสนบาท ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติสร้างที่จุดนั้น ก็พร้อมจะถมดินตั้งระดับไว้ก่อน ส่วนตัวอนุสาวรีย์ก็จะจัดระดมทุนในรูปแบบทอดผ้าป่า ทั้งนี้ ตามแบบที่เสนอกรมศิลปากรไป ฐานล่างจะเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก จารึกสมาชิกเสรีไทยสายอีสาน และรายชื่อผู้บริจาค รวมทั้งเนื้อหาบางส่วนของงานเสรีไทย

     "ทีมงานฝ่ายจัดหารายได้ จะจัดทอดผ้าป่าระดมทุนเร็ว ๆ นี้ครับ และคาดว่าจะวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างได้ปีหน้าครับ” เลขานุการโครงการ กล่าวในที่สุด

ครูเตียง ศิริขันธ์ สามัญชนผู้มีจิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เสียสละเพื่อประเทศชาติ เป็นแบบอย่างความเป็นมนุษย์ แบบอย่างของนักการเมืองดี แทบหาไม่ได้แล้วในยุคนี้ สมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์แห่งความดี

*ติดต่อ คุณทองเพชร สุวรรณแทน อดีตพัฒนาการจังหวัดสกลนคร โทรศัพท์เบอร์ 081-768947

1 comment:

  1. การใหห้ความรู้กับประชาชน ด้านวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ขอให้กำลังใจ สภาฯและผู้จัดทำบทความ good works

    ReplyDelete